วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2552

การชงกาแฟ

การชงกาแฟมีหลากหลายวิธี ซึ่งสามารถแบ่งเป็นประเภทตามการให้น้ำกับกากกาแฟ ได้สี่ประเภทหลักๆ การต้มเดือด:กาแฟตุรกี วิธีการดั้งเดิมในการชงกาแฟ ซึ่งยังคงใช้อยู่ในตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ ตุรกี และกรีซ ได้แก่การต้มผงกาแฟละเอียดเข้ากับน้ำในหม้อคอคอด ซึ่งเรียกว่าไอบริก (ibrik) ในภาษาอารบิก, เซสฟ์ (cezve) ในภาษาตุรกี, และเซสวา (dzezva) ในภาษาเซอร์โบ-โครเอเชียน และปล่อยให้เดือดเล็กน้อย บางครั้งก็จะเติมน้ำตาลเข้าไปในหม้อด้วยเพื่อเพิ่มรสหวาน และยังเพิ่มรสและกลิ่นด้วยกระวาน (cardamom) ผลที่ได้คือกาแฟเข้มข้นถ้วยเล็กๆ มีฟองอยู่ข้างบน และกากกาแฟกองหนาเหมือนโคลนอยู่ที่ก้น การใช้ความดัน: เอสเพรสโซ ถูกชงด้วยน้ำเดือดอ้ดความดัน และมักเป็นพื้นฐานนำไปผสมกาแฟหลายๆ ชนิด หรือไม่ก็เสิร์ฟเปล่าๆ ก็ได้ (มักจะเป็นหลังจากมื้อค่ำ) กาแฟชนิดนี้เป็นหนึ่งในประเภทที่แรงที่สุดที่ดื่มกันโดยทั่วไป และมีรสชาติและความมัน (crema) ที่เป็นเอกลักษณ์ เครื่องชงกาแฟแบบใช้น้ำร้อนซึม (หรือหม้อม็อคค่า) มีลักษณะแบ่งออกเป็นสามส่วน โดยส่วนล่างใช้สำหรับต้มน้ำ เพื่อให้ไอลอยขึ้นไปยังกากกาแฟซึ่งอยู่ในส่วนตรงกลาง น้ำกาแฟที่ได้ ซึ่งมักมีความเข้มข้นระดับเดียวกับเอสเพรสโซ จะถูกเก็บอยู่ในส่วนบนสุด ส่วนที่มักวางติดกับเครื่องอุ่นหรือเตา เครื่องบางแบบยังอาจมีฝา 5 แก้วหรือพลาสติกใสเพื่อเอาไว้ดูกาแฟตอนที่มันลอยขึ้นข้างบน การใช้แรงโน้มถ่วง: การชงแบบหยด (หรือแบบกรอง) เป็นการหยดน้ำร้อนผ่านกากกาแฟที่วางอยู่ในที่กรอง (อาจเป็นกระดาษหรือโลหะเจาะรู) ความเข้มขึ้นอยู่กับ สั.ดส่วนระหว่างน้ำกับกาแฟ แต่โดยปกติแล้วจะไม่เข้มข้นเท่าเอสเพรสโซ เครื่องชงกาแฟแบบใช้น้ำร้อนซึมประเภทที่สอง ก็เป็นแบบที่ใช้แรงโน้มถ่วงดึงให้น้ำไหลผ่านกากกาแฟ แต่ให้ความเข้มมากกว่าการจุ่ม:เฟรนช์เพรส (หรือ cafetiere) เป็นกระบอกแก้วที่สูงและแคบ ประกอบด้วยลูกสูบที่มีตัวกรอง กาแฟและน้ำร้อนจะถูกผสมกันในกระบอก (ประมาณ2-3นาที) ก่อนที่ตัวลูกสูบ ซึ่งอยู่ในรูปฟอยล์โลหะ จะถูกกดลง เพื่อให้เหลือแต่น้ำกาแฟอยู่ข้างบนพร้อมเสิร์ฟ ถุงกาแฟ (ลักษณะเดียวกับถุงชา) เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมน้อยกว่าการใช้ถุงชงชามาก เนื่องจากมันมีขนาดใหญ่กว่ามาก (ปริมาณกาแฟที่ต้องใส่เข้าไปในถุงมากกว่าปริมาณชามาก) กาแฟทุกแบบที่ได้กล่าวมานี้ต่างใช้กากกาแฟชงกับน้ำร้อน กาแฟอาจถูกปล่อยค้างอยู่หรือไม่ก็ถูกกรองออกไป แต่ละวิธีต่างต้องการความละเอียดของการบดแตกต่างกันไป

เสาต้นที่ 1 อัตราการชง (brew ratio)
หมายถึง อัตราส่วนของผงกาแฟบดกับน้ำกาแฟที่ชงออกมาได้ เช่น brew ratio ของการชงแบบ drip จากมาตรฐานของสมาคมกาแฟพิเศษแห่งสหรัฐฯ ให้ไว้ที่ กาแฟบดปริมาณ 55 กรัม ต่อน้ำกาแฟที่ชงได้ 1000 กรัม เอา 55 หารด้วย 1000 ทำให้เป็นร้อยละด้วยการคูณ 100 จะได้ brew ratio เท่ากับ 5.5 % เมื่อหันมาชงแบบเอสเปรสโซ หากเราใช้กาแฟ 7 กรัม โดยทั่วไปชงออกมาได้น้ำกาแฟ 14 กรัม หมายถึง brew ratio เท่ากับ 50% เราเข้าใจง่ายๆ นะครับว่า ยิ่ง brew ratio มาก(กาแฟมาก น้ำน้อย) กาแฟก็ยิ่งเข้มข้นนั่นเอง
เสาต้นที่ 2 อุณหภูมิในการชง (brew temperature)
ในที่นี้ผมหมายถึงอุณหภูมิของน้ำที่ใช้สกัดกาแฟ เราสามารถสกัดกาแฟด้วยอุณหภูมิของน้ำต่างๆ กัน ตั้งแต่น้ำที่เย็นเจี๊ยบ จนถึงน้ำที่อุณหภูมิใกล้จุดเดือด อุณหภูมิที่ต่างกันจะสามารถสกัดกาแฟได้ต่างกัน เราอาจชดเชยได้ด้วยเวลาที่ใช้ในการสกัดเช่นหากน้ำอุณหภูมิต่ำอาจต้องใช้เวลาในการสกัดนานกว่า ทั้งนี้ brew temp เป็นอุณหภูมิที่ใช้ตั้งแต่เริ่มสกัดจนการสกัดกาแฟจบสิ้น หรืออาจเรียกว่า เป็น temperature profile ก็ได้ซึ่งโดยทั่วไปมี 3 ลักษณะคือ เริ่มที่อุณหภูมิต่ำแล้วค่อยเพิ่มสูงขึ้น ที่เรียก rising profile หรือ เริ่มที่อุณหภูมิสูงแล้วค่อยลดต่ำลงที่เรียก falling profile และอีกแบบคือรักษาอุณหภูมิเท่ากันตลอดการคั้น ที่เรียกว่า flat profile
เสาต้นที่ 3 อัตราการคั้น (extraction rate หรือ extraction time)
นั่นก็คือ เวลาทั้งหมดที่เราปล่อยให้น้ำอยู่ร่วมกับกาแฟ โดยธรรมชาติหากให้อยู่ด้วยกันนานน้ำก็จะสกัดกาแฟออกมาได้มาก ดังเช่นในกรณีของการสกัดกาแฟด้วยวิธีเอสเปรสโซ extraction time ที่แนะนำโดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 20-30 วินาที ต่อน้ำกาแฟ 25-35 ml
เสาต้นที่ 4 ความหยาบละเอียดของผงกาแฟบด ( grind size)
โดยธรรมชาติอีกเช่นกันครับ ที่กาแฟที่ละเอียดกว่าจะถูกสกัดได้มากกว่า ผงกาแฟที่บดขนาดต่างกันย่อมให้รสชาติกาแฟต่างกันเสมอ และที่สำคัญคือเราต้องไม่บดกาแฟละเอียดจนหลุดรอดตะแกรงที่เราเลือกใช้
เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ สั้นๆ ง่ายๆ แต่ถือเป็นหลักคิดสำคัญที่ตัวผมเองต้องใช้ตลอดเวลา เวลาที่เรายืนอยู่หน้าเครื่องชงกาแฟแบบใดก็แล้วแต่ คงเหมือนคุณบัณฑิตที่กำลังยืนอยู่หน้าวงออเครสต้าที่ต้องควบคุมเสียงอันหลากหลายให้ออกมาสอดประสานคล้องจองเป็นหนึ่งเดียวและน่าฟัง การชงกาแฟเราต้องชดเชยสิ่งต่างๆ ที่กล่าวไปเพื่อให้ออกมาอย่างสมดุลย์กลมกลืน ผมยกตัวอย่างเช่นการชงกาแฟด้วย vac pot ที่เคยเล่าให้ฟังไปแล้ว นั่นก็มีวิธีคิดไม่หนีจากหลักการที่กล่าวไป นั่นคือผมต้องทดลอง หาสัดส่วนของปริมาณกาแฟกับปริมาณน้ำ ผมต้องทดลองบดกาแฟที่ความหยาบละเอียดต่างกัน ผมต้องทดลองเลี้ยงน้ำไว้กับกาแฟในเวลาที่ต่างกัน การทดลองต่างๆ ให้ผลลัพธ์คือรสชาติต่างกันทั้งหมด ผมต้องตัดสินใจว่าจะเลือกแนวทางในการชงอย่างไรจึงจะได้กาแฟที่ตัวผมเองพอใจที่สุด
เสาทั้งสี่ต้นได้ถูกเอาขึ้นไปแล้ว ส่วนหลังคานั้นก็คือทักษะในชิมทดสอบที่ต้องฝึกฝนอย่างหนักเช่นกัน เมื่อได้ฝึกฝนจนชำนาญแล้วจะพบว่าเราสามารถชงกาแฟได้อร่อยขึ้นอย่างน่าแปลกใจ จนบางครั้งก็ดูเหมือนไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย ความสามารถแบบนี้ที่ทางธรรมอาจเรียกว่าเกิด “ปัญญา” หรือ intuition ส่วนตัวผมชอบเรียกความรู้สึกรู้ในการชงกาแฟแบบนี้ว่ามี gut feeling

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น